Push-to-Talk

รู้ก่อนเลือก “หูฟังการแปลภาษา และตู้ล่าม”

การเลือก “หูฟังการแปลภาษา และตู้ล่าม” สำหรับใช้ในงานประชุมนั้น อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจก่อนนะครับ เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่ควรนำมาพิจารณาก่อนฟันธงเลือกผู้ให้บริการ และอุปกรณ์ที่เหมาะที่สุดสำหรับงานของเรา

1. อย่าด่วนเลือกเพราะราคา

แน่นอนครับว่า เมื่อได้ใบเสนอราคามา หลายๆ ท่านต้องมองลงไปที่ตัวเลขตรง “ราคาสุทธิ หรือ Grand Total” เลย เพราะเป็นสิ่งเดียวที่อยากรู้เพื่อนำไปคำนวนต้นทุนของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดงานประชุม ลูกค้ามักจะไม่สนใจรายละเอียดของอุปกรณ์ในใบเสนอราคา เพียงคิดว่าคงเหมือนๆ กัน เพราะเรียกเหมือนกัน ซึ่งหากมองข้ามจุดนี้ไป เราอาจพลาดรายละเอียดสำคัญที่จะนำระบบหูฟังการแปลภาษา และตู้ล่ามไปใช้ให้เหมาะสมกับงานได้นะครับ

2. หูฟังการแปลภาษามีกี่ระบบ อะไรบ้าง

ระบบหูฟังการแปลภาษา ที่มีให้บริการในไทยนั้น มีอยู่ 2 ระบบครับ คือ ระบบ RF และ Digital Infra-red

ระบบ RF (Radio Frequency)
เป็นระบบหูฟังการแปลภาษาที่ใช้คลื่นวิทยุอย่าง UHF, VHF/FM, AM เป็นสื่อนำสัญญาณเสียง ที่หาได้ง่ายในกลุ่มผู้ให้บริการในไทย เป็นระบบที่มีต้นทุนของตัวส่งสัญญาณ (RF Transmitter) และ RF Receiver ไม่สูงมากนัก ทำให้มีผู้ให้บริการนำมาประยุกต์ ผสมผสาน เพื่อให้บริการในราคาประหยัด เหมาะสำหรับงานประชุมทั่วๆ ไปที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และยอมรับ-รับได้ในคุณภาพเสียงที่ได้จากตัวสัญญาณวิทยุ รวมถึงเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้ง มีการแอบอ้างว่าเพื่อให้เกิดความทันสมัยแก่อุปกรณ์ โดยมักอ้างว่าเป็นระบบ Digital RF, Digital VHF/FM หรือ Digital UHF ต้องถามให้ดีก่อนนะครับว่า ตัว Digital นั้น คืออุปกรณ์ตัวใด เพราะในอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบหูฟังการแปลภาษานั้น สิ่งที่จะเป็นดิจิตอลได้จะมีเพียงเครื่องควบคุม (ที่เรียกว่า CU, Central Control Unit) และชุดไมค์ล่าม หรือ Interpreter Console เท่านั้นครับ ไม่มีการส่งสัญญาณแบบดิจิตอลในกลุ่มเครื่องรับสัญญาณ UHF, VHF / FM เลย

ระบบ Digital Infra-red

เป็นอุปกรณ์ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นระบบมาตรฐานสำหรับใช้ในการประชุมทั่วโลก เพราะระบบ Digital Infra-red นี้ ใช้แสงอินฟราเรดในการส่งสัญญาณเสียงการแปลภาษาไปยังเครื่องรับ หรือชุดหูฟัง (Digital Infra-red Receiver) ด้วยคุณภาพเสียงที่ดีเยี่ยม ความคมชัดเทียบเท่ากับเสียงที่ฟังจากแผ่น CD เลยทีเดียว อีกทั้งสามารถรองรับการฟังเสียงแปลภาษาได้สูงสุดถึง 32 ช่องภาษา โดยไม่ต้องห่วงเรื่องสัญญาณกวน หรือการถูกบุคคลภายนอกแอบฟังการประชุมของเราได้เลยครับ
ระบบ Digital Infra-red ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ Bosch, Shure, Brahler, TAIDEN, และ Televic

3. รู้ก่อนเลือก Digital Infra-red VS Radio Frequency

เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบคุณสมบัติของทั้งสองระบบ ไว้ประกอบการตัดสินใจ แอดฯ จึงทำเป็นตารางสรุปรายละเอียดให้ดังนี้ครับ

รายการเปรียบเทียบRF SystemDigital Infra-red System
ความรวดเร็วในการติดตั้ง (สำหรับงานที่ใช้ไม่เกิน 3 ตู้ล่าม)1-2 ชั่วโมง1-3 ขั่วโมง
คุณภาพสัญญาณเสียง AMFMUHF  มีเสียงรบกวนมาก มีเสียงรบกวนปานกลาง ค่อนข้างดีคมชัดมาก (ในห้องขนาดเล็ก-ขนาดกลาง)
การใช้ในงานที่มีภาษาแปล หรือตู้ล่ามจำนวนมากใช้ได้ แต่มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดคลื่นวิทยุจากแหล่งอื่นรบกวน หรือคลื่นเสียงแปลภาษารบกวนกันเองเหมาะสมที่สุด
การเก็บรักษาความลับในระหว่างการประชุมไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเครื่องรับสัญญาณวิทยุทั้ง VHF/FM, UHF สามารถหาซื้อได้ทั่วไป เพียงมีเครื่องรับสัญญาณ (Receiver) ประเภทเดียวกันกับที่ใช้ในงาน แล้วปรับช่องให้ตรงกัน ก็สามารถนั่งฟังจากภายนอกห้องประชุมได้ทันทีดีที่สุด เพราะเมื่อนำเครื่องรับสัญญาณ Digital Infra-red Receiver ไปฟังนอกห้อง จะไม่สามารถรับสัญญานได้เลย
การใช้งานในงานประชุมที่มีห้องย่อย (Breakout) หรือสถานที่จัดประชุมที่ใช้ระบบหูฟังการแปลภาษาทั้งจากในงานเดียวกัน และจากหลายๆ งานที่มาจัดในสถานที่เดียวกันไม่แนะนำ เพราะอาจเกิดคลื่นวิทยุจากแหล่งอื่นๆ รบกวน และผู้เข้าประชุมอาจฟังการประชุมผิดห้องเหมาะสมที่สุด
การติดตั้งในห้องประชุมขนาดใหญ่ (ขนาด 600 คนขึ้นไป)สะดวก ประหยัด และสัญญาณครอบคลุมค่อนข้างดีต้องพิจารณาจุดติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณ (Infra-red Radiator) ซึ่งอาจต้องติดตั้งด้วยทีมงานที่มีประสบการณ์ และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
การถูกรบกวนคุณภาพในการส่งสัญญาณเสียงจากอุปกรณ์อื่นๆอาจโดนคลื่นวิทยุรบกวนจากสถานีวิทยุต่างๆ, ไมโครโฟนไร้สาย, สัญญาณโทรศัพท์ 5G, สัญญานดิจิตอล ทีวี,วิทยุสื่อสาร (Walkie-Talkie), สัญญาณ WiFiสัญญานแสงรบกวนจากหลอดไฟชนิด LED, จอภาพ LED Wall แต่จะเกิดขึ้นในกรณีที่นำเครื่องรับสัญญาณ (Digital Infra-red Receiver) มาใช้ใกล้ๆ แหล่งกำเนิดแสงเหล่านี้

4. ตู้ล่าม และ Console

สภาพแวดล้อมในการทำงานของล่ามก็สำคัญนะครับ เพราะพี่ๆ ล่ามนั้น ต้องนั่งอยู่ใน “ตู้ล่าม” แทบจะทั้งวัน
โดยภาพนี้ ผมได้เปรียบเทียบระหว่างตู้ล่ามทั้งสองแบบที่ Mighty MICE มีให้บริการ ซึ่งตู้ล่ามสีขาวฝั่งซ้ายเป็นตู้ที่ Mighty MICE ออกแบบและผลิตเอง เทียบกับตู้ล่ามของ Multi-Caisse ที่เรานำเข้าจากประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตตู้ล่ามมาตรฐาน ISO 17651-2 : 2014 (เดิม ISO 4043 : 2016)

จะเห็นได้ว่า ทั้งสองตู้มีความคล้ายคลึงกัน โดยมีหน้าต่างบานหน้าและด้านข้างที่กว้าง เพื่อช่วยให้ล่ามสามารถมองเห็นเหตุการณ์ในห้องประชุม และตู้ล่ามข้างๆ ได้อย่างชัดเจน (กรณีมีการใช้ตู้ล่ามมากกว่า 1 ตู้ที่วางติดกัน)
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญถึงขนาดที่ ISO ได้กำหนดลักษณะของตู้ล่าม ควรจะมีลักษณะ รูปร่างหน้าตาแบบไหนที่เหมาะสมให้พี่ล่ามเข้าไปทำงานอย่างสะดวกสบายที่สุด ดังนั้นอย่าลืมให้ความสำคัญกับตู้ล่ามด้วยทุกครั้งนะครับ

ส่วน “ชุดไมค์ล่าม หรือ Interpreter Desk / Interpreter Console” ก็เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ ที่ถูกมองข้ามพอสมควร แต่อุปกรณ์ชิ้นนี้ มีความสำคัญกับพี่ล่ามที่มาแปลในงานของเรามากๆ เลยนะครับ

เพราะยิ่ง “ไมค์ล่าม” ที่ดี ก็ยิ่งทำให้พี่ล่ามทำงานได้สะดวก และฉับไวขึ้นมาก ยิ่งในปัจจุบัน มีการพัฒนาไมค์ล่ามเป็นระบบดิจิตอลเต็มรูปแบบ และ Mighty MICE ก็ไม่รอช้า เลือกใช้อุปกรณ์จากผู้ผลิตชื่อดังอย่าง Bosch และ Shure ที่ออกแบบ Interpreter Console ให้ทันสมัย ผลิตภายใต้มาตรฐาน ISO 20109 : 2016 ช่วยให้ล่าม Simultaneous ทำงานได้ด้วยความสบายใจ สร้างประสิทธิภาพ เพื่อประสิทธิผลให้กับงานประชุมได้เกินร้อยยยย ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ Interpreter Console ได้ที่ Blog ของเราเรื่อง : Push-to-Talk # 2 : Interpreter Console เลือกดีๆ พี่ล่ามก็แฮปปี้

5. ใครๆ ก็อยากใช้ Digital Infra-red แต่…

เพราะมาตรฐานที่หูฟังแปลภาษาระบบ Digital Infra-red ที่ผู้ผลิตชื่อดังอย่าง Bosch และ Shure ได้สร้างไว้ ทำให้ใครต่อใครก็อยากใช้ระบบ Digital Infra-red กันทั้งนั้น แต่ค่าใช้จ่ายของระบบ Digital Infra-red จาก Bosch และ Shure ค่อนข้างสูง ทำให้ค่าบริการทั้งหมดจะสูงกว่าระบบ RF พอสมควร จึงเกิดแนวคิดในการนำระบบ Radio Frequency อย่าง UHF และ VHF / FM เข้ามาใช้แทน และสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ หากแต่เวลาใช้งาน ก็อาจจะต้องระวังเรื่องสัญญาณวิทยุกันด้วยครับ เพราะคลื่นวิทยุที่จะมากวนเรานั้น จู่ๆ มันก็มา จู่ๆ มันก็ไป เราก็ไม่รู้เลยว่ามาจากไหน เพราะมันคือคลื่นวิทยุที่มาจากเครื่องมือสื่อสารต่างๆ โดยแหล่งคลื่นความถี่ UHF ส่วนมากจะมาจาก ไมค์ไร้สาย (ไมค์ลอย) ที่ใช้ตามห้องประชุม, รวมถืงสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างๆ ที่ใช้ความถี่ VHF / FM ที่เราฟังเพลงฟังข่าวในรถ และวิทยุสื่อสารอย่าง Walkie-Talkie

และเพราะ Digital Infra-red เป็นระบบที่สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานด้านอุปกรณ์ที่ดีของผู้ให้บริการ แต่อาจมีการผสมผสานทั้งระบบ Digital Infra-red และ RF ใช้ในงานเดียวกัน โดยอาจอาศัยความ “ไม่รู้” ของลูกค้า ที่ผู้ให้บริการอาจติดตั้งทั้งสองระบบไว้ด้วยกัน และเลือกใช้เครื่องรับสัญญาณดิจิตอล อินฟราเรด และ VHF / FM ที่ออกแบบมาคล้ายๆ กัน จุดไหนที่รับสัญญาณ Digital Infra-red ไม่ได้ ก็เอาเครื่องรับสัญญาณของ RF ไปใช้แทน เป็นต้น

VHF / FM Receiver
Bosch Digital Infra-red Receiver

ทั้งหมดที่เล่าให้ฟังนี้ เป็นเพียงข้อมูลหลักๆ ที่ไว้ช่วยประกอบการพิจารณาเลือกใช้อุปกรณ์หูฟังการแปลภาษาระบบต่างๆ นะครับ ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ และความพอใจของผู้รับบริการเองว่า จะเลือกใช้ หรือมีความจำเป็นในการใช้อุปกรณ์ประเภทใด หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ในการเลือก “หูฟังการแปลภาษา ตู้ล่าม” และช่วยให้ผู้อ่านได้รู้จักคุณสมบัติต่างๆ  เพื่อการเลือกใช้ “หูฟังการแปลภาษา” ได้ถูกต้องตามลักษณะการใช้งานครับ